Wednesday, April 15, 2009

Anatomy of Japanese







ติดตามอ่านงานของ Kaiji Kawaguchi เรื่อยมา ตั้งแต่ ยุทธการใต้สมุทร ( Silence Service) Da vin ci, Eagle, Zipang จนเรื่องล่าสุด Spirit of the Sun​ หรือชื่อภาษาไทย ยุทธการจุดตะวัน พร้อมตัว logotype ที่ลอกแบบยุทธการใต้สมุทร ของวิบูลย์กิจมาเป๊ะๆ คนที่คิดจะตามอ่านของ Kawaguchi คงต้องทำใจเรื่องการออกแบบตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครผู้หญิง ช่วยไม่ได้จริงๆที่เนื้อหาที่น่าทึ่งของแต่ละเรื่องกลบจุดอ่อนที่ว่าซะมิด ตามอ่านมานาน ก็พึ่งจะเคยอ่านบทสัมภาษณ์แบบเป็นเรื่องเป็นราวของเขาก็ตรงส่วนท้ายของ Zipang เล่ม 22 นี่เอง นี่คือบทสัมภาษณ์เล็กๆที่ทำให้เข้าใจความยิ่งใหญ่ของ mangaka ผู้พิสมัยการนำเสนอประเด็นหนักๆอย่างเรื่อง สงครามและการเมืองระหว่างประเทศเป็นที่สุด

จากประเด็นสำคัญในเรื่อง "ยุทธการใต้สมุทร" กลายเป็นประเด็นใหญ่โตที่ว่า จากนี้เราจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เรียกว่า "ประเทศ" เลยอยากจับประเด็นให้แคบลงมาอีกนิดในผลงานที่กำลังตีพิมพ์อยู่อย่าง "Zipang" และ "Spirit of the Sun" ต่อเนื่องมาจาก "ยุทธการใต้สมุทร" ในมุมมองที่แตกต่าง และพูดถึงประเด็น "คนญี่ปุ่นคืออะไร" ให้เข้มข้นขี้น

จริงๆแล้วเวลาที่จะเริ่มเขียนเรื่องใหม่ เขาจะคิดพล็อตที่สนุกและชวนตื่นเต้นให้ได้ก่อน อย่างเรื่อง Zipang ก็คือเรื่องราวของเรือและลูกเรือของกองกำลังป้องกันตนเองหลงมิติเวลาเข้าไปอยู่กลางสงครามแปซิฟิก จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามองคนญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับสงครามแปซิฟิกหรือสงครามมหาเอเชียบูรพาด้วยมาตรฐานของคนปัจจุบัน ส่วนใน Spirit of the Sun นั้น ญี่ปุ่นแตกออกเป็นสองส่วนเพราะแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เหมือนกับในคาบสมุทรเกาหลีขี้นที่ญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร น่าจะเป็นโอกาสให้มองประเทศญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นด้วยสายตาของคนนอกได้ เมือประเทศเกาะแยกเป็นสองส่วน นี่ก็ญี่ปุ่น นั่นก็ญี่ปุ่น และถ้า 2 ญี่ปุ่นที่แยกออกไปมีการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันก็น่าจะยิ่งมองกันด้วยสายตาของคนนอกได้มากขึ้น

Kawaguchi บอกว่าตอนที่เขียน "ยุทธการใต้สมุทร" เคยสนใจมากว่า สงครามคืออะไร และในสงครามทั้งหมดที่สนใจมากเป็นพิเศษก็ สงครามแปซิฟิก แต่ถ้าจะเขียนเชิงประวัติศาสตร์คงไม่ได้อะไรขึ้นมา เขาบอกว่า สิ่งที่เขาอยากถ่ายทอดใน Zipang นั้น ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แต่เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกในเหตุการณ์ให้ผู้อ่านต่างหาก

เพราะการ์ตูนโดยพื้นฐานแล้วคือเรื่องโกหกที่แต่งขึ้นมา เวลาที่คิดจะนำความสมจริงมาสู่เรื่องแต่งก็ต้องใช้เอกสารหรือความรู้เฉพาะทาง เมื่อเทียบกับตัวหนังสือแล้ว การ์ตูนสื่อสารได้ตรงไปตรงมามากกว่าส่วนที่ตัวหนังสือทำไม่ได้ การ์ตูนสามารถสร้างความรู้สึกสมจริงได้ด้วยพลังของภาพ เขาคิดว่าที่การ์ตูนญี่ปุ่นก้าวหน้าขนาดนี้น่าจะเป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีความสามารถในการเข้าใจภาพเป็นพิเศษ คนพูดกันบ่อยว่า Tezuka Ozamu เป็นผู้วางรากฐานให้วงการการ์ตูนญี่ปุ่น แต่จริงๆแล้วในประวัติศาสตร์ คนญี่ปุ่นชื่นชอบภาพเขียน และมีความเข้าใจมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ตั้งแต่สมัยภาพม้วน การที่อ่านการ์ตูนได้สนุกขนาดนี้เป็นความรู้สึกพิเศษเฉพาะคนญี่ปุ่น ในยุโรปเองการมองการ์ตูนก็แตกต่างไปจากญี่ปุ่น

ในความคิดของเขามีทั้งความรู้สึกอยากปฎิเสธและความภูมิใจในคนญี่ปุ่น ทำไมถึงทำสงครามแบบนั้นลงไปได้ คิดว่าจะต้องขุดคุ้ยความใช้ไม่ได้ของคนญี่ปุ่นมาเขียนให้หมด แต่อีกด้านก็มีความภูมิใจในคนญี่ปุ่น อย่างเรื่อง ยุทธการใต้สมุทร ที่ใช้เวลาเขียนทั้งหมด 7 ปีครึ่ง เขาบอกว่ายิ่งเขียนไปเรื่อยๆเนื้อหาก็ยิ่งน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือการทำสงครามเต็มรูปแบบจริงๆระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่น เขายกเครดิตให้ผู้อ่านที่ช่วงเวลานั้นคงต้องการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นอย่างเข้มข้นพอดี

อ่านบทสัมภาษณ์ของ Kawaguchi จนจบแล้ว ได้แต่บอกกับตัวเองว่า ความคิดของผู้ชายคนนี้สุดยอดไปเลย และไม่แปลกถ้าจะต้องตามอ่านผลงานของเขาต่อไป ถึงแม้ตัวคาแร็กเตอร์ที่ส่วนมากเป็น คนเพศชาย จะวาดออกมาได้ห่วยแตกขนาดไหนก็ตาม

2 comments:

Wee said...

เห็นด้วยว่างานของผู้เขียนท่านนี้ มีแต่ตัวละครเพศชายที่หน้าตาน่าเบื่อมากๆ แต่ทุกอย่างนอกเหนือจากตัวคนก็วาดได้ดีนะครับ เรือดำน้ำ อาวุธสงคราม ฉากบ้านเมืองต่างๆ วาดได้ดีทีเดียว นอกจากนั้นผลงานแต่ละเรื่องเป็นแรงบันดาลใจให้ไปศึกษาเรื่องอื่นๆ ต่อได้อีกอย่างกว้างขวาง

ตอนอ่าน "ยุทธการใต้สมุทร" ก็ทำให้สนใจดูสารคดีเกี่ยวกับเรือดำน้ำ, สงครามทางทะเล มาแล้ว

weloveveryday said...

จริงๆ ในบทสัมภาษณ์ที่ลงใน zipang ละเอียดกว่านี้ ประมาณว่า คนเขียนคิดว่า อย่างแรกที่เขียนคือ ตัวเองอยากสนุกก่อนเลย โดยไม่ได้แคร์ว่าคนอ่านจะรู้สึกยังไง แต่พอเขียน ยุทธการ แล้ว รู้สึกว่า คนอ่านอยากอ่านแบบที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนคนเขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเขียนแบบนั้นได้่อีกไหม เพราะหลังจากนั้น คนอ่านก็ไม่ได้อินเท่าตอน ยุทธการแล้ว แต่มีคำนึงที่เขาพูดแล้วรู้สึกตลกดี ก็คือ เขาเชื่อว่า คนญึ่ปุ่นรุ่นหลังเนี่ยบางคนไม่รู้ด้วยซำ้ว่า ญีปุ่นเคยทำสงครามกับอเมริกา ... ตลกดี