Friday, July 31, 2009

Do not talk about AUNG SAN SUU KYI.



นานแล้ว ที่หยิบ คม-ชัด-ลึก weekly วันพุธ ท่องเที่ยว&เดินทาง ฉบับปกกัมพูชามาเขียนถึง ศัพท์ภาษาเขมร จากคอลัมน์ พจนานุกรมทัวร์ (หน้า 4) การอ่านออกเสียงและความหมายที่ขัดหูและขัดความรู้สึก ทำให้บ่อยครั้ง ... (ด้วยความเคารพ) มักใช้เวลาด้วยความหนุกหนานนานๆกับเว็บไซต์สอนออกเสียงภาษาเขมร แน่นอน ที่ต้องหัวเราะ เพราะคำที่นึกว่าจะออกเสียงแบบนึง แต่พับผ่า ดันออกเสียงอะไรออกมาเนี่ย ?
ต้องหยุดพล่ามถึงเขมร และมาติดตามฉบับประจำวันที่ 29 กรกฎา - 4 สิงหา ว่าด้วยพม่า เป็นหน้าปก
เลยไม่ยอมพลาดแน่นอน หยิบมาไว้ในมือแล้วรีบพลิกไปหน้า 4 ก็พบกับ พจนานุกรมทัวร์ ภาษาพม่า จนได้ (พอใจมาก) เรามาเริ่มอ่านออกเสียงตามที่เขียนไว่้กันเลยนะครับ

คำทักทาย:
สวัสดี มิงกะบาลาฃ
ขอบคุณมาก เจซูติน บาแด
ขอโทษ (excuse me) ควินโละ บ่าหน่อ
ขอโทษ (sorry) กระเด็าะบ่า / ซอร์รี่หนอ
ไม่เป็นไร กิจซะมะชิบ่าบู
สบายดีไหม เหน่กองลา
สบายดี เหน่กองบ่าแด่
ไม่ค่อยสบาย เหน่ามะกองบู
ลาก่อน ตาตา

คำศัพท์น่ารู้
เด็กผู้ชาย / คนหนุ่มโสด หม่อง
เด็กผู้หญิง / สาวโสด ม่ะ
หญิงมีการศึกษาแล้ว ดอว์
ผู้ชาย ผู้หญิง เย่าจา เหมมะ
แฟน คนรัก ยีซา
สวยมาก น่ารักมาก ล่ะเด่ ช้อเด่
หล่อมาก ค้านเด่
หิว ไบซ้าเดะ
อร่อยมาก อะยาต่าชิเดะ

ด้วยความเคารพอย่างสุดจะหาที่กล่าวมิได้ พวกเรื่องลิขสิทธิ์ / นักเขียน / นักออกแบบ หรือว่า สถาปนิก ไม่รู้สึกว่ามีอะไรแบลกๆเกิดขึ้นบ้างเลยเหรอ ผมได้่ความรู้ใหม่มาว่า ถ้าหากทำงานให้กับออฟฟิศในสถานะ ลูกจ้าง (รับเงินเดือนประจำ) งานที่เราออกแบบขึ้นมา ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของคนออกแบบไม่ใช่ของออฟฟิศนะ แต่ถ้าเกิดว่ารับ job ทำแบบฟรีแลนซ์ ผลงานที่ออกแบบมานั้นจะกลายเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท / ห้างร้านที่จ่ายเงินจ้างคนมาออกแบบ ชักจะไม่เกี่ยวกับศัพท์พม่าด้านบนไกลขึ้นทุกที
แค่อยากบอกว่า อย่าลืมนะ ห้ามเอ่ยชื่อ ออง ซาน ซูจี เวลาอยู่พม่าเป็นอันขาด!! เพราะรัฐบาลทหารของที่นี่กลัวชื่อผู้หญิงคนนี้แบบขึ้ขึ้นสมองจริงๆ

Friday, July 24, 2009

Bangkok on the Move! So tomorrow where shall we live?







ตอนที่คุยกัน เขาบอกผมว่า Norman Foster คิดค่าแบบแพงจริงๆ สถาปนิกที่เขาเล็งไว้คนต่อไปคือ Ole Scheeren ในใจผม คิดว่าที่เขาพูดไม่น่าจะทำจริง จนได้เห็น news release ของโครงการ MahaNakhon วันนี้นี่แหละ ที่คุยกันเกือบๆสองปีที่แล้ว ทำจริงนี่หว่า
MahaNakhon โปรเจ็คต์ร่วมกันระหว่าง PACE Development กับ Industrial Buildings Corporation (IBC) ออกแบบโดย Ole Scheeren พาร์ทเนอร์ของ OMA สร้างเสร็จเมื่อไหร่จะกลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย และแน่นอนว่าคงกลายเป็น landmark แบบเมืองอื่นของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย หน้าตาอย่างที่เห็น pixel สามมิติที่ค่อยๆหมุนเกลียวรอบตึกจะมี function มากกว่าแค่ภาพติดตาอย่างที่่ Ole บอกหรือเปล่า ... ไม่รู้ อยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้ก็นี่เลย http://www.pacedev.com/site

Tuesday, July 21, 2009

The Piano Teacher



ทั้งที่คิดว่าเริ่มชินกับหนังของ Michael Haneke เพราะดูมาแล้ว 3 เรื่อง เริ่มจาก Hidden (2005) ต่อด้วย Funny Games (1997) และ Time of the Wolf (2003) แต่พอดู The Piano Teacher (2002) จนจบ ที่ว่าเริ่มชินกับหนังของ Haneke ... มันคือการคิดไปเองทั้งนั้น ผมแค่รู้จัก มุมกล้อง การตัดต่อห้วนๆ บทพูดไม่สมประกอบ และฉากจบแบบของเขาเท่านั้น
The Piano Teacher ดัดแปลงมาจาก Die Klavierspielerin นวิยายของ Elfriede Jelinek ว่าด้วยเรื่องของ Erika (Isabelle Huppert) โปรเฟสเซอร์สอนเปียโนที่ Vienna Music Conservatory กับลูกศิษย์หนุ่มอายุ 17 ที่ชื่อ Walter ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวของครูสอนเปียโนโสดอายุ 40 กับนักเรียนตัวเองคงเป็นพล็อตธรรมดาๆ แต่ถ้าครูคนนั้นเป็นพวกเก็บกดทางเพศและมีรสนิยมทางเพศสุดพิลึกพิสดารเข้าขั้นล่ะ?
เพลงของ Schumann และ Schubert ถูกบรรเลงออกมาตัดสลับกับหัวข้อสนทนาเรื่อง Schumann และ Schubert ความวิตถารตัดสลับกับความเว้าแหว่งระหว่างแม่กับลูกสาว ต้องยอมรับว่า Haneke กำกับการแสดงเรื่องนี้ได้เยี่ยมกว่าทุกเรื่องที่เคยดูมา ไม่มีนักแสดงคนไหนที่เล่นไม่ดีเลยแม้แต่นเดียว โดยเฉพาะ Huppert ที่สำคัญคือไม่รู้ว่าทำยังไงถึงทำให้เธอค่อยๆสวยขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายกลายเป็นซากไปเลย อีกอย่างที่ไม่อยากพูดถึงแต่คงต้องเชิญชวนทุกท่านให้เลือกซับไตเติ้ลภาษาไทยดู​ ท่านจะได้พบประสบการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนในการดูหนังเป็นของแถมที่ถือเป็นไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดจริงๆ

The Medium is the Massage



คอลัมน์คุยกับพี่บูมี่ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ของ Boom เป็นคอลัมน์ที่อ่านประจำ นอกจากคำถามพิมพ์นิยมที่น้องๆให้พี่บูมี่ช่วยตั้งชื่อภาษาไทยของตัวเองให้เป็นชื่อญี่ปุ่นแล้ว (ตัวอย่างเช่น ชื่อว่า ตรัย พอเปลี่ยนเป็นชื่อญี่ปุ่นก็จะกลายเป็น มิตสึอิ หลายศิริ เป็น ซาคิจิ ไม่ได้มั่วขึ้นมาลอยๆแค่มี logic และวิธีแปลงชื่อที่ชัดเจนมาก ) ความเพลิดเพลินประการสำคัญสำหรับผมก็คือพวก ศัพท์ประหลาด ด้วยความสงสัยความหมายของศัพท์พวกนี้ เพราะเจอเยอะเหลือเกินและพี่บูมี่ก็ไม่ยอมใส่ footnote ว่าแต่ละคำมันแปลว่าอะไร แถมขี้เกียจ search เอง เลยอาศัยถามผู้ที่รู้มากกว่าอย่างเน็ตและสอช่วยไขความกระจ่างได้คำตอบ (ที่ไม่การันตีว่าถูกต้อง 100% ) ประมาณนี้ คำตอบช่วงแรกเป็นของเทพเน็ตส่วนย่อหน้าที่เริ่มต้นประโยคว่า ต้นตอของภาษานรก เป็นคำตอบของเมพสอ อ่านไปอ่านมาทำเอานึกถึง pocketbook เล่มนึงที่เคยซื้อได้ที่ 7-11 ชื่อ "พจนานุแนว" จริงๆ

"เมพ" - จุดเริ่มต้นมาจากเว็บบอร์ดชื่อประมูล (http://bbs.pramool.com) มาจากพฤติกรรมการพิมพ์คําผิดของพวกเกรียน
สังเกต ได้ว่าบนคีย์บอร์ด ท.ทหาร กับ ม.ม้า จะติด กันทําให้พิมพ์ผิดได้ง่าย
"เมพเกรียน" - อันนี้มาจากเกรียนเทพครับ หมายถึงเด็กหัวเกรียนที่แม้นิสัยจะเกรียนแต่มีความเก่งด้านใดด้านหนึ่งเข้าขั้นเทพ
"ขิงขิง" หรือ "ขริงขริง" - ขิงขิงผิดมาจากคําว่า จิงจิง ส่วน ขริงขริง ผิดมาจากคําว่า จริงจริง จะเห็นได้ว่า ข.ไข่ กับ จ.จาน มันอยู่ติดกัน
"ติแตก" - มาจากติสแตก
"จิ้น" - มาจากอิมเมจิ้น

ต้นตอขอภาษานรกทั้งหลาย ส่วนมากเกิดจากสังคมของโลกเกมออนไลน์(โดยเฉพาะแรคนรก) ซึ่งสัมพันธ์กับ บอร์ดประมูล ครับ
อาจเปรียบได้กับเมื่ออยู่ในเกมก็เหมือนเราเสียบปลั๊กเข้าโลก matrix และพอถอดปลั๊กออกจากโปรแกรมก็ต้องมาคุยต่อเรื่องด่าคนต่างๆที่มันเทพๆหรือซื้อของแลกเงินจริงกันในประมูลครับ
ขอแบ่งเรื่องที่มาของคำนรกต่างๆเป็น 3 หัวข้อใหญ่ๆนะครับ

ข้อ1 ก็คนมันรีบอะ
เนื่องจากเด็กสมัยใหม่ มือไวใจไว พิมผิดแต่ก็เห็นอ่านรู้เรื่องกันนิ จะเสียเวลาแก้ทำไม คำพวก เมพ ขิงขิง จึงกำเนิดขึ้นครับ
ส่วนอีกพวกเป็นการจงใจย่อคำเนื่องจากต้องพิมไว พิมคุยไปตีบอสไปจะยาวไม่ได้เสียเวลา เลยเกิดการย่อคำขึ้น เช่น กำ = กรรม หรือ เวรกรรม , เด๋ว , เพ่ง , เส็ด หรือสัญญานต่างๆเช่น 111111111111111111111111 (แปลว่า เจอบอสแล้วมาเร็วๆๆๆ) เป็นต้น

ข้อ2 ก็คนมันอยากเท่ง่ะ
เนื่องจากการตั้งชื่อในโลกไซเบอร์แบบดาดๆจะไม่เท่พอสำหรับเด็กเพิ่งหัดเกรียนทั้งหลาย ภาษาภาพจึงเป็นที่นิยม การเล่น font ต้องไม่ธรรมดาในการตั้งชื่อ ถ้าใช้ภาษาอังกฤษ จะ Run ธรรมดาๆไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องเป็น l2un เป็นต้น ดังนั้นเมื่อถึงจุดนึง ชื่อที่ขึ้นต้นด้วย เทพ+.... จะเป็นที่นิยมมาก ไม่รู้ว่าเพราะ font เรียงกันแล้วสวย หรืออะไรอย่างใด หลังๆจึงมีการพิมคำนี้ลอยๆอย่างพร่ำเพื่อ และน่าจะเป็นที่มาของการชมหรือประชดคนเก่งๆกันว่าเทพส่วนนึงครับ
ตัวอย่าง
InwIuต แม่มโคตรInwเลยว่ะมรึง

ข้อ3 ก็คนมันน่ารักอะ คริคริ
เนื่องจากเด็กเรียนทั้งหลายเมื่อ login เข้าสู่ แรคนรก หรือ เกมใดๆที่ตัวละครของเราโคตรจะน่ารัก ดังนั้นเราต้องสวมบทบาทกันครับพี่น้อง อันนี้สัญชาตญาณจะพาไปเอง ถ้าเล่นเคาน์เตอร์ยิงหัวกันก็จะสบถกันเต็มที่แบบเด็กชาย แต่พอเข้าแรคปุ๊ปเราจะฝืนมากครับถ้าพิม เย็ดแม่ง หรือ เหี้ย ลงไปเพราะไม่เข้ากับหน้าตาเราในเกมครับ ดังนั้นจิงเกิดการสร้างคำแทนเสียงพูดที่น่ารักเกิดขึ้น เช่น ชิมิ แทน ใช่มั๊ย งิงงิง แทน จริงจริง

ต่อมาเป็นการสร้างเสียงครางต่างๆ ไว้คุยกันครับ เช่น
ง่าาาา หรือ แง่วววว อาจแทนได้กับอารมณ์ - -" เหงื่อตก
แง่มๆ เวลาที่ไม่รู้จะพูดไรกัน

และจุดไคลแมกซ์อยู่ตรงนี้ครับ การที่ผู้ชายเล่นตัวผู้หญิงแล้วต้องการฉอเลาะเด็กเกรียน จึงต้องสร้างสรรค์เสียงคราง เสียงหัวเราะที่มันน่ารักๆขึ้นมา เช่น
มุมิมุมิ เทอๆ ชื่อไรอะ
ชื่อ InwIuต เหรอ แปลว่าเนตที่บ้านแรงอะดิ ช่ะป่ะ คริคริ
ล้อเล่นๆ อย่าโกรดเรานะ อิ_อิ
กำกำำกำกำ หนีไปเรยอะ แง่วววว... > <
ถ้าขำมากๆ ให้ใช้คำว่า ก๊าก

Friday, July 17, 2009

She's the one.





ตอนแรกที่เห็นบทความนี้ใน โพสต์ทูเดย์ สุดสัปดาห์ ฉบับวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2552 (คริ คริ ราชบัณฑิต ขำขำ) ก็พาลนิสัยเสียเดาเอาก่อนว่าเนื้อหาคงไม่หนีเรื่องเดิมๆ ประมาณภาษาไทยวิบัติวายป่วงจากการใช้ศัพท์ประมาณ "คริ คริ" นี่แหละ แต่พออ่านจนจบ ผมกลับรู้สึกว่า ผู้หญิงคนนี้เจ๋งจริงๆ
"ภาษาแชต" ที่ผู้ใหญ่หลายคนคงต้องเบือนหน้าหนี แต่รศ.ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคิสมาชิกสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตสถาน มีความเห็นที่ทำเอาทึ่งไม่น้อย "ภาษาแชต เป็นความสะดวกในการสื่อสารกันระหว่างกลุ่มคน เป็นภาษาที่ใช้ตามเสียงที่พูด แทนความรู้สึกหรืออาการแสดงออก วัยรุ่นยุคนี้ใช้ภาษาที่ว่า เพราะสะดวกในการใช้คีย์บอร์ดพิมพ์ โดยไม่ต้องคอยกดชิฟต์ อย่ากังวลเรื่องนี้เกินไป เร็วเกินกว่าที่นักภาษาศาสตร์คนไหนจะตอบได้ว่ามีผลต่อมาตรฐานการใช้ภาษาไทย"
"ธรรมชาติของภาษาคือความเปลี่ยนแปลง คนสมัยก่อนเคยพูดว่า ไปหา "ชิ้น" คนสมัยนี้ต้องพูดว่าไปหา "แฟน" ปัจจุบันก็พูดกันว่าไปหา "กิ๊ก" แน่นอนว่าในอนาคตจะต้องมีคำอื่นมาใช้เรียกแทน "กิ๊ก" อีก นี่คือธรรมชาติของภาษา ในยุคสมัยหนึ่งคำบางคำเป็นคำร้ายแรง พูดไม่ได้เลย เช่น คำว่า โกหก เมื่อก่อนจะว่าใครโกหก ถือว่าคนพูดไม่มีมารยาท เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก หรือคำว่า อ้วนหรือผอม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ประกาศห้ามพูดหรือใช้คำคำนี้กับคน เพราะเป็นคำที่ใช้กับสัตว์เท่านั้น
ภาษามีช่วงเปลี่ยนกับช่วงแปร ในสังคมออกเสียงหรือใช้คำคำหนึ่งสองสามแบบใช้สลับกัน กระทั้งวันหนึ่งแบบหนึ่งเป็นที่ยอมรับมากกว่า อีกแบบก็จะเลิกใช้หรือตายไปเอง ปัญหาของภาษาไม่ใช่เรื่องของการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นเรื่องของการใช้ผิดกาลเทศะ ในกรณีวัยรุ่นใช้ภาษาแชตนั้นไม่ผิด เว้นแต่ไปอยู่ผิดที่ ในมุมมองของนักภาษาศาสตร์การใช้ภาษาไม่มีวันผิดเลย ตราบใดที่มันถูกใช้อย่่างถูกกาลเทศะ ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลเรื่องภาษาที่เด็กใช้ จะให้เด็กอายุ 14 ปี คิดเหมือนคนอายุ 40 ปีไม่ได้ - นี่คือความเห็นของอาจารย์นิตยาคนเดียวเท่านั้น ไม่ใช้ข้อสรุปจากราชบัณฑิตยสถาน - แถมท้ายอีกว่า พูดอังกฤษคำไทยคำไม่แปลก ที่กลัวว่าจะถูกกลืนเป็นการกังวลที่เกินเหตุ เมื่อใดก็ตามที่เลือกใช้คำอื่นมาพูดในภาษาเรา หมายความว่า คำคำนั้นกำลังถูกเรากลืน เพราะเวลาใช้ เราไม่ได้ออกเสียงตามต้นแบบเดิม แต่เราออกเสียงตามแบบไทย ใครที่คิดว่าภาษาไทยเปลี่ยนไม่ได้ ก็ดท่ากับการพยายามแช่แข็งภาษา ผิดธรรมชาติของมนุษย์
อ่านถึงตรงนี้ ไม่รู้ว่าทำไมไม่ค่อยมีผู้ใหญ่ที่ใจกว้างและมองอะไรเรียลริสติกแบบนี้อีกหลายๆคน คำถามคือ ผู้ใหญ่แบบนี้มีน้อยจริงๆหรือสื่อรู้ดีว่าความเห็นประมาณนี้ไม่ขาย... ?

Thursday, July 9, 2009

Playing with Face






ของฝากชิ้นนี้อาจารย์ดนัยพันธ์บรรจงซื้อมาจาก design museum เมื่อคราวที่แกไปฮันนีมูนที่ลอนดอน หน้ากล่องพิมพ์ว่า Type Trumps ลิขสิทธิ์และออกแบบโดย Rick Banks กราฟิกดีไซเนอร์อังกฤษ หรือ AKA ว่า FACE37 ที่บอกว่า เล่น ก็เพราะ Type Trumps ก็การ์ดเกมดีๆนี่เอง คนที่เคยเล่นพวกการ์ดเกมอย่างดราก้อนบอลหรือยูกิ น่าจะเข้าใจวิธีเล่นได้ไม่ยาก แต่คนที่ไม่เคยก็คงต้องอ่านวิธีเล่นที่บอกไว้หลายรอบหน่อย
กติกาไม่ยาก เริ่มจากแจกการ์ดให้ครบคน แล้วแต่ละคนก็เลือกการ์ดในมือของตัวเองมาประชัน "พลัง" กับคู่ต่อสู้ในวง ไอ้พลังที่ว่านี่ มันมีหลายพลังให้เลือกใช้ซะด้วย สมมติหยิบขึ้นมาใบหนึ่งในมือแล้วกะว่าการ์ดที่ตัวเองถืออยู๋ "Rank" มากกว่าของคนอื่นแน่ๆก็มาวัดกันที่ "Rank" หรือจะวัดกันที่ "Cut" "Price" "Weights" "Legibility" " อันนี้ตัวเลขใครมากกว่า คนนั้นชนะได้การ์ดของอีกฝ่ายไป แต่ถ้าเป็น "Year" ตัวเลขใครน้อยกว่าคนนั้นก็ชนะ หรือ ในกรณีพิเศษ ที่แต้มดันมาเท่ากันแบบช่วยไม่ได้ ให้เลือกใช้ special power ได้ ไอ้ special power นี่ คงต้องเป็นคนทำกราฟิกที่รู้เรื่องฟอนต์ดีประมาณหนึ่ง ถึงจะ get แต่อย่างน้อย Type Trumps ให้ความรู้เรื่อง font ได้แบบสบายสมองจริงๆ ตัวอย่างง่ายๆ American Typewriter มี cuts = 3, Price = 139 ปอนด์ , Year = 1974 , Rank = 9 , Weight = 06 , Legibility = 05 , Foundry = Adobe , Designer = J.Kaden & T.Stan, Special power = I love NY ถ้าเอาไปสู้กับ Johnston Underground ที่มี Cuts = 03, Price = 39 ปอนด์ (ถูกจัง), Ranks = 20 , Legibility = 08 , Special power = London Underground ลองวัดกันดูว่าอันไหนใครชนะ พอดูค่าพลังครบหมดทุกใบ เลยอยากรู้เหมือนกันว่า ทำไมดีไซเนอร์ถึงจงเกลียดจงชัง Comic Sans กับ Arial กันนัก ที Helvetica ปรับมาจาก Akzidenz ไม่เห็นมีใครว่าอะไรเท่าไหร่เลย หรือ Arial เนี่ยคนทำมันไม่ยอมบอกว่า กูเอามาจาก Helvetica นะจ๊ะ ถ้าตอนนั้น R.Nicholas คนออกแบบ Arial จงใจบอกว่าผมดัดแปลงมาจาก Akzidenz เนี่ย จะมีใครว่าอะไรไหม? อ่า ชักนอกเรื่องแฮะ ลองไปหามาเล่นกันเองแล้วกัน ได้ความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ แถมได้เก็บของหน้าตาดีๆ ก็ถือว่าคุ้มครับคุ้ม