Friday, March 20, 2009

He so hot right now!











ได้ link ของเว็บนี้มาจากพี่นุ ที่ได้ต่อมาจาก Carlos Segura จาก Segura Inc. www.iwearyourshirt.com คือเว็บไซต์ของ Jason Sadler ผู้ชายหน้าตาดาดๆ ที่ความคิดไม่ธรรมดา
ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหน่วงสุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองของอเมริกา คนที่จะคิดแบบนี้ได้ต้องเชื่อว่า ทุกอย่างสามารถขายได้ในอินเตอร์เน็ต หลายคนคิดไม่ต่างจากนี้แน่ๆ ที่ยากที่สุดคือ จะขายอะไรและจะขายได้หรือไม่ ต้องขอบคุณ web 2.0 ที่ทำให้ทุกอย่างยิ่งง่ายขึ้นไปอีก สิ่งที่ Jason ทำคือ การขายตัวเอง แน่นอนว่าหน้าตาแบบนี้คงไม่ได้มาเร่ขายบริการทางเพศ
เขาจัดการให้ตัวเองเป็นนายแบบตลอดปี 2009 ไม่ได้ผ่านโมเดลลิ่ง แค็ตวอล์คไหนทั้งนั้น ที่่เขาทำคือการรับเป็นนายแบบเสื้อยืดให้กับคุณ องค์กร ห้างร้านของคุณเท่านั้น เสื้อยืดที่่ว่าเรียกว่า namely t-shirt เสื้อยืดที่มีรายละเอียดแค่ โลโก้ ชื่อแบรนด์ ชื่อบริษัทหรือสโลแกนเท่านั้น Jason รับจ้างใส่เสื้อยืดวันละ 1 ตัว เปลี่ยนไปเรื่อยตามแต่คุณจะติดต่อว่าจ้าง พอใส่แต่ละวันก็จัดการถ่ายรูปลง blog ของตัวเอง อัพโหลดคลิป vdo ลง Youtube แล้วกระจายทางเว็บตัวเอง ไม่ก็ facebook, flickr หรือไม่ก็ twitter ราคาขาย (ค่าตัว) เริ่มตั้งแต่ 1 เหรียญ คือวันที่ 1 มกราคม 2009 แล้วค่อยๆเพิ่มราคาขึ้นวันละเหรียญจนถึงวันสุดท้ายคือ 31 ธันวาคม 2009 ในราคา 365 เหรียญ
แล้วเรื่องไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อเว็บเขาและตัวเขาได้รับความสนใจจากหลายบริษัทในอเมริกา จนถึงตอนนี้คิวใส่เสื้อของ Jason ลากยาวไปถึงเดือนเมษายนเข้าไปแล้ว จนถึงตอนนี้วันที่เหลืออยู่ในเดือนเมษาก็ราคาปาเข้าไป 126 เหรียญเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่รู้จริงๆว่าที่จองๆกันมาเป็นพวกหน้าม้าหรือเปล่า บริษัทส่วนมากที่ส่งเสื้อให้ Jason ใส่ก็ระดับสเกลขนาดย่อมเท่านั้น
ถ้าสนใจ วิธีโปรโมทแบรนด์ตัวเองแบบใหม่ก็ลองเข้า web ของ Jason เอาเอง ถ้าเกิดสนใจให้เขาเป็นนายแบบ โปรดอย่าลืม Jason ใส่ XL เท่านั้นครับ

Where do we go from here?



จริงๆอยาก post บทความนี้ตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว แต่ไม่มีเวลาจริงๆ ตอนนี้พอหายใจได้สะดวกขึ้นบ้างแล้ว เลยอยากเอาข้อเขียนของ เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เขียนเรื่อง วิกฤตการณ์การเงินโลก ที่ตีพิมพ์ลงในมติชนรายวัน ฉบับที่ 11325 วันที่ 13 มีนาคม 2552 ต้นฉบับเดิมของบทความฉบับนี้ เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร The Monthly ของออสเตรเลีย บทความภาษาไทยนี้ตัดตอนและถ่ายทอดเป็นภาษาไทย เพื่อนำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มติชน โดยเฉพาะ เป็นกรณีพิเศษ ลองอ่านดูแล้วกันว่า สิ่งที่นายกของออสเตรเลียคนนี้เขียนถึงโลกเป็นเช่นไร อ่านจนถึงบรรทัดสุดท้าย นอกจากชั้นเชิงในงานเขียนจะไม่เป็นรองนักหนังสือพิมพ์หน้าไหนแล้ว คงไม่มีคำตอบสำหรับคำถาม "where do we go from now?" เราจะเดินต่อไปเช่นไรในอนาคตอันใกล้ ไม่มีใครรู้จริงๆ

วิกฤตการณ์การเงินโลก
โดย เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย


ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นานๆ ครั้งจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและมีนัยสำคัญ จนทำให้ความเชื่อแต่ดั้งเดิมถูกล้มล้างไป แล้วมีแนวคิดใหม่เข้ามาแทนที่ ทุกวันนี้ ระดับความรุนแรงของวิกฤตการณ์การเงินโลกทำให้พวกเราต้องทบทวนนโยบายและปรัชญาทางด้านเศรษฐกิจที่นำพาพวกเรามาจนถึงจุดนี้อีกครั้ง

จอร์จ โซรอส ได้กล่าวไว้ว่า "สาระสำคัญที่สุดของวิกฤตการณ์การเงินในขณะนี้ก็คือ มันไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงสั่นสะเทือนจากภายนอก...แต่เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากตัวระบบของมันเอง"

โซรอสพูดถูก วิกฤตการณ์ในขณะนี้เป็นผลพวงจากการครอบงำจากนโยบายเศรษฐกิจที่ยึดถืออุดมการณ์การตลาดเสรีมานานถึง 30 ปี โดยได้รับการขนานนามต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น เสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism), เศรษฐกิจเสรีนิยม (economic liberalism) หรือ ลัทธิคลั่งเศรษฐกิจ (economic fundamentalism) โดยหลักความคิดที่ผลักดันอุดมการณ์ดังกล่าวก็คือ กิจกรรมของภาครัฐควรถูกจำกัดไว้ และแทนที่ด้วยพลังตลาดในที่สุด ซึ่งในปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นแล้วว่า พลังตลาดที่ไร้การตรวจสอบได้นำทุนนิยมไปสู่หุบเหวอย่างไรแทนที่จะกระจายความเสี่ยงไปทั่วโลก ระบบการเงินของโลกกลับเพิ่มความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เลวร้ายยิ่งขึ้น

แนวคิดเสรีนิยมใหม่เชื่อว่าตลาดการเงินโลกจะแก้ไขตัวมันเองได้ในที่สุด ด้วยว่ามือที่มองไม่เห็นของพลังตลาดซึ่งปราศจากการควบคุมใดๆ นั้นจะหาจุดสมดุลของมันได้เอง แต่นักเศรษฐศาสตร์อย่างโจเซฟ สติกลิตซ์ ได้แสดงทรรศนะวิพากษ์ไว้ว่า "เหตุผลที่มือที่มองไม่เห็นนั้นดูเหมือนจะมองไม่เห็น ก็เป็นเพราะว่ามือนั้นไม่มีอยู่จริงต่างหาก"

ดังนั้น จึงเป็นแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลต์ ที่เข้ามาสร้างทุนนิยมแบบอเมริกันขึ้นมาใหม่หลังจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในขณะที่พรรคเดโมแครตแห่งอเมริกา ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ก็ต้องเข้ามาสร้างอุปสงค์ในประเทศให้เกิดขึ้นอีกครั้งหลังยุคสงคราม มีการขับเคลื่อนแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) เพื่อฟื้นฟูยุโรปและจัดตั้งระบบเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods system-ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่) ขึ้นมาเพื่อกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ

เช่นเดียวกันกับที่คนรุ่นใหม่จะต้องทบทวนและสร้างระบบเศรษฐกิจระดับชาติและนานาชาติของเราขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ถ้ารัฐบาลกลางของประเทศต่างๆ จะปกป้องทุนนิยมเอาไว้ พวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายสามประการ

ประการแรกคือ การใช้หน่วยงานของรัฐในการฟื้นฟูตลาดในกำกับอย่างเหมาะสม และการสร้างอุปสงค์ในประเทศและในโลกขึ้นมาอีกครั้ง จากความล่มสลายของเสรีนิยมใหม่ บทบาทของรัฐได้รับการยอมรับอีกครั้งว่าเป็นรากฐานที่สำคัญ โดยที่รัฐได้เป็นผู้ที่แสดงบทบาทหลักในการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสามด้านที่ชัดเจน คือการเข้าช่วยเหลือระบบการเงินเอกชนไม่ให้ล้มลง ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงอันเนื่องมาจากความล่มสลายในอุปสงค์ของเอกชน และการออกแบบระบบกำกับในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีความรับผิดชอบในการตัดสินใจและบังคับใช้ระบบระเบียบดังกล่าว

ความท้าทาย ประการที่สอง สำหรับนักสังคมประชาธิปไตยก็คือการพยายามแก้ปัญหาโดยไม่ทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้วกลับแย่ลงไปอีก เมื่อวิกฤตการณ์การเงินเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของครอบครัวต่างๆ ทั่วโลก ย่อมก่อให้เกิดแรงกดดันให้ถอยกลับไปใช้รูปแบบที่รัฐเป็นผู้จัดหาทุกสิ่งทุกอย่างให้ และละทิ้งหลักการทั้งหมดของตลาดแบบเปิดกว้างและแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ การปกป้องทางการค้าเริ่มจะเกิดขึ้นและรู้สึกได้บ้างแล้ว แม้จะเป็นในรูปแบบที่นุ่มนวลและแนบเนียนมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าอย่าง Smoot-Hawley Tariff Act ในปี 1930 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอย่างนุ่มนวลหรือแข็งกร้าว การปกป้องทางการค้านั้นเป็นวิธีการที่จะทำให้ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจถลำลึกสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เกิดความล่มสลายของอุปสงค์ระดับโลก ข้อกล่าวอ้างโดยดุษณีเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองที่มีมาตลอดของสังคมประชาธิปไตยก็คือความสามารถในการรักษาสมดุลระหว่างเอกชนกับภาครัฐ กำไรและค่าจ้าง ตลาดและรัฐ ปรัชญาดังกล่าวส่งเสียงดังขึ้นอย่างแจ่มชัดและมีน้ำหนักขึ้นอีกครั้งเพื่อประจันหน้าท้าทายพวกเราในขณะนี้

ความท้าทาย อีกประการหนึ่ง สำหรับรัฐบาลต่างๆ ที่กำลังรับมือวิกฤตการณ์ในขณะนี้ก็คือมิติของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รัฐบาลต่างๆ ต้องออกกฎระเบียบการเงินต่างๆ ของโลกให้สอดคล้องกันเพื่อป้องกันการวิ่งแข่งกันไปสู่จุดต่ำสุด นั่นคือการที่เงินทุนไหลออกสู่อาณาเขตเศรษฐกิจของโลกที่มีข้อบังคับอันอ่อนด้อย เราต้องจัดสร้างมาตรฐานแห่งการเปิดเผยต่อกันระดับโลกอย่างเป็นระบบสำหรับสถาบันการเงินที่สำคัญ เรายังต้องสร้างกรอบการกำกับดูแลที่เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดความรับผิดชอบมากขึ้นในการบริหารองค์กร ซึ่งรวมถึงเรื่องการให้ค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารระดับสูงด้วย

โลกได้หันหน้าเข้าหากันด้วยการให้ความร่วมมือกันต่อรัฐผ่านกลุ่มประเทศ G20 เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในทันทีให้แก่ระบบการเงินโลก; เพื่อประสานให้เกิดการกระตุ้นทางการคลังอย่างเพียงพอต่อการรับมือกับช่องว่างทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากภาวะชะลอตัวทั่วโลก; เพื่อออกแบบกฎระเบียบระดับโลกเสียใหม่สำหรับอนาคต; เพื่อปฏิรูปสถาบันรัฐระดับโลกที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะไอเอ็มเอฟ ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันเหล่านั้นมีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอต่อความต้องการในศตวรรษที่ 21

การจัดการกำกับดูแลไอเอ็มเอฟจะต้องได้รับการปฏิรูป มีเหตุผลเพียงพอทีเดียวที่ว่าหากเราคาดหวังจะให้ประเทศต่างๆ ที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น จีน มีส่วนร่วมมากขึ้นในสถาบันระดับพหุภาคีอย่างไอเอ็มเอฟแล้ว พวกเขาก็ควรจะได้รับเสียงที่ดังขึ้นในการร่วมตัดสินใจในเวทีเหล่านี้

ความท้าทายระยะยาวสำหรับรัฐบาลต่างๆ คือการจัดการกับความไม่สมดุลต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจของโลกสั่นคลอนในทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจที่ได้ดุลสูงอย่างจีน ญี่ปุ่น และประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน กับประเทศลูกหนี้รายใหญ่หลายราย เช่น สหรัฐอเมริกา

ความร้ายแรงของวิกฤตและผลกระทบทั่วโลกหมายความว่าการปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่เชื่อกันมายาวนานเพียงเล็กน้อยจะไม่ช่วยอะไรได้ ความจริงสองประการที่ไม่อาจโต้แย้งได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นก็คือตลาดการเงินไม่สามารถแก้ไขตัวเองหรือกำกับตัวเองได้ตลอดเวลา และอีกข้อหนึ่งก็คือรัฐบาล (ระดับชาติหรือระดับนานาชาติ) ไม่เคยสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้เลย

สำหรับรัฐบาลต่างๆ นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่เพียงแค่รักษาระบบตลาดเปิดไม่ให้ถูกทำลายลงด้วยตัวมันเองเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นอีกครั้งให้กับตลาดที่ได้รับการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาสุดขั้วจากกลุ่มซ้ายจัดหรือขวาจัด

รัฐบาลต่างๆ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องเพราะมีเดิมพันที่สูงยิ่ง นั่นก็คือ มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะสูญเสียจากการว่างงานระยะยาว ความยากจนที่จะแผ่ขยายความน่าประหวั่นพรั่นพรึงไปยังประเทศกำลังพัฒนาอีกครั้ง และผลกระทบในระยะยาวต่อโครงสร้างทางอำนาจภายในระเบียบทางการเมืองและทางยุทธศาสตร์ระดับนานาชาติที่ดำรงอยู่ ความสำเร็จจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทางเลือก เพราะมีสิ่งต่างๆ มากมายที่จะต้องอาศัยความสามารถของพวกเราเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้

Saturday, March 14, 2009

The best-known fallen angel is Lucifer.


















ลงรูปกันให้ดูอีกเพื่อเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา จาก Angel นิตยสารมีชีวิต เอาให้่ดูทั้งเนื้อในและหน้าโฆษณา อย่าง KA cream และ A&W ไม่ลืมหน้าของคณะนักร้อง แรพเตอร์, เจสัน ยัง, มอส (ตอนนั้นออกชุด 2), วิลลี่ แมคอินทอช, ฟลุ๊ค มีเนื้อในอยู่คอลัมน์หนึ่งที่ดูแล้วหน้าตาดีที่สุด คือ หน้าที่พูดถึงแม็กกาซีนของเมืองนอก ไม่รู้ทำไมหน้านี้ถึงทำออกมาได้ดีเกินหน้าเกินตาหน้าอื่นอย่างเห็นได้ชัด แล้วก็ซูมให้ดูว่า ไอ้ที่เขียนเรื่องจังหวัดไว้ใต้หัวหนังสือน่ะ ของจริง ไม่ได้โม้ บอกแล้วว่านี่คือ หน้าตานึงของยุคสมัย

Friday, March 13, 2009

Fallen Angel







เพราะต้องมารักษารากฟันที่ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค เป็นประจำทุกอาทิตย์ เลยได้เจอกับ ANGEL นิตยสารแฟชั่นที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเคยมีอยู่ในโลกนี้ด้วย เลยค่อยๆ หยิบมาพลิกๆ ดู ไล่ไปตั้งแต่ปกหน้าจนถึงหน้าสุดท้าย เลยทำให้รู้ "รสนิยม" ในการทำหนังสือของยุคสมัยนั้น
ANGEL ฉบับที่ 10 เอ่อ โทษที ต้องเขียนตามอย่างที่พิมพ์ดีกว่า ... ข้างใต้หัว ANGEL เขียนฉบับที่และราคาเอาไว้ว่า No.10 SEPTEMBER 1994 45 Baht ต่อด้วยชื่อเมืองเป็นภาษาอังกฤษดังนี้ Bangkok Sukhothai Had Yai Ubon Lobburi Rayong Nakornsrithammarat เกิดคำถามแล้วใช่ไหม? ตอนที่เห็นแวบแรกเลยคือ ทำไมถึงต้องเป็นชื่อจังหวัดพวกนี้ด้วย ทำไมต่อจาก บางกอก ถึงเป็น สุโขทัย หาดใหญ่ (นี่ไม่ใช่จังหวัดแต่เป็นอำเภอ) อุบล (ใช้ตัวย่ออย่างงี้เลย) ต่อด้วย ลพบุรี (ทำไมวะ) ระยอง และ นครศรีธรรมราช ... เดาว่า อยากใส่ชือเมืองโปรยลงไปให้ละม้ายนิตยสารหัวนอกทั้งหลายที่ใส่พวก London Paris Milan New York Tokyo แล้วก็ดูไม่เคอะเขิน แต่นี่ ... นอกจากการเลือกที่จะใส่ลงไปแล้ว ทำไมถึงต้องเป็นจังหวัดพวกนี้หว่า ? สมัยนั้น ( ปี 1994 หรือกว่า 15 ปีมาแล้ว ) วงการแฟชั่น คนฮิปๆ เค๊านิยมไป หาดใหญ่ ลพบุรี สุโขทัย หรือระยอง กันใช่หรือไม่ ... ผมไม่ทราบจริงๆ พอเห็นหัวหนังสือและหน้ามอสที่ลงปกแล้ว ทำให้อยากรู้เหลือเกินว่า ใครคือทีมงานผู้ผลิต ANGEL ตามไปดูกัน...
เปิดไปที่หน้าเครดิต หรือที่เขาเรียกว่าหน้าเปิดใจ ก็พบกับ slogan ของนิตยสารเล่มนี้จนได้ ANGEL นิตยสารมีชีวิต ... ผมสาบานได้ว่าข้อความทั้งหมดนี้ไม่ได้แต่งเติมใดๆทั้งสิ้น คราวนี้แหละยิ่งอยากรู้หนักเข้าไปอีกว่าใครเป็นคนทำ มองหาเครดิตจนพบว่า (เขาใช้คำดังต่อไปนี้ - โปรดอ่าน) พี่เลี้ยงด้านบริหารและผู้พิมพ์ผู้โฆษณา - พี่แอ คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา คือ ทุกตำแหน่งจะขึ้นต้นด้วยคำว่า พี่เลี้ยง เสมอ (คล้่ายๆกับหน้าเครดิตของ a day บางเล่ม) อีกคนที่จดมา คือ พี่เลี้ยงด้านทำหล่อทำสวย (ไม่แน่ใจจริงๆว่ามันคือหน้าที่อะไรในกองบรรณาธิการ) โค้ชทีมโดย พี่ใหญ่ อมาตย์ นิมิตภาคย์ จนมาถึงบรรทัดท้ายๆของเครดิตก็มีเขียนเอาไว้ว่า เป็นน้องแท้ๆของนิตยสาร IMAGE ห่างกัน 5 ปีกับ 11 เดือน

ตรงหน้าเปิดใจ ก็คงคล้ายๆกับหน้า บรรณาธิการ เขียนทักทายผู้อ่านทั่วๆไป แต่หน้านี้เป็นบันทึกของยุคสมัยก็ตรงประโยคนี้ "ถ้าขี้เกียจเขียนจดหมายหาเรา ก็โทรหากันได้ที่เบอร์ ... (ยังไม่มี 02 นำหน้า) ไฮเทคหน่อยก็ขอเชิญหมุน 162 ฝากข้อความหมายเลข 134422..." ใช่ครับ นี่คือช่องทางติดต่อกันสมัยนั้น สมัยที่ยังไม่รู้จักโลกของ worldwideweb ข้อสังเกตคือการเลือกใช้ ฮัทชิสัน อาจจะดูแล้วมีระดับกว่าเจ้าอื่นที่ดาษๆอย่่าง packlink (1144) phonelink (152) หรือว่า easycall (1500) นี่อาจเป็นการบ่งบอกรสนิยมของแฟชั่นกูรูสมัยนั้นก็เป็นได้

เห็น ANGEL เล่มบางๆแต่พลิกไปดูหน้าสุดท้ายทำเอางงไปเลยที่นิตยสารเล่มนี้หนาตั้ง 200 หน้า! ตัวเลขหน้าเขียนกำกับเอาไว้ว่า "ส่วนที่" หมายความว่า หน้าแรกก็จะเป็น "ส่วนที่ 1" ไล่ไปจนหน้าสุดท้ายคือ ส่วนที่ 200 ANGEL ไม่ได้พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม แต่เป็นกระดาษอาร์ตที่พิมพ์ 4 สีสลับกับกระดาษปอนด์ที่พิมพ์สีเดียว เปิดไปแต่ละหน้าพร้อมความรู้สึกที่บีบคั้นมากมาย ลองดูภาพตามไปแล้วคงเข้าใจ

นายแบบ set หนึ่งคือ ฟลุ๊ค เกริกพล สมัยตอนอายุ 16 ปี ฟลุ๊คให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ถ่ายแบบครั้งแรกลงนิตยสาร อานนท์ เล่มที่ เจ มณฑล จิรา ขึ้นปก (ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกว่า อานนท์คือนิตยสารของพจน์ อานนท์ หลังจากแยกตัวออกมาจาก เธอกับฉัน) ภาพแฟชั่นในเล่มส่วนมากคืองานของ อมาตย์ นิมิตภาคย์ ผมพอจะยอมรับได้ว่า สมัยนั้นยังไม่มี photoshop การจัดแสงถ่ายแฟชั่นคงต้องใช้ความสามารถและทักษะชั้นสูงอยู๋มากทีเดียว แต่ถ้าให้พูดตามตรงก็คือ แฟชั่นเซ็ตที่อมาตย์ถ่ายออกมาหน้าตาเหมือน ภาพในหนังสือโป๊ไทยสมัยก่อนจริงๆ มี set นึงชื่อว่า girl & boy ก็จับเอานายแบบ นางแบบ หลายๆคนมาถ่ายรวมกัน มี เรย์ แมคโดนัล แอนท์ ธรัญญา และ เบิร์ด (Byrd) พิทยา ณ ระนอง ในหน้าเครดิตนายแบบ-นางแบบบอกไว้ว่า พิทยาอายุมากสุดในเซ็ตนี้ -ตอนที่ถ่่ายเขาอายุ 24-
พลิกต่อไปเรื่อยๆ เจอกับคอลัมน์ NEW ANGEL หนุ่มหน้าใส วัยละอ่อน นายแบบหน้าใหม่สุดๆที่เป็น NEW ANGEL เล่มนี้คือ เจสัน ยัง!! แถมด้วยหน้าที่ว่าด้วยเรื่องเสื้อผ้าของดารา ก็เลือกสัมภาษณ์การแต่งตัวของ Raptor !! จอนนี่ แอนด์ หลุยส์ !! หน้าดวงใช้ชื่อประมาณว่า ดาราดูดารา เป็นการจับเอาดารามาแฉเรื่องดวงชะตาราศรี เล่มนี้คือ ดวงชะตาของ วีนัส มีวรรณ์ !! พอถึงหน้า MUSIC CHART ก็มีทั้ง chart เพลงไทยและเพลงฝรั่ง ของไทยเป็นอัลบั้มส่วนของฝรั่งเป็น single ณ เวลานั้นอัลบั้มอันดับ 1 คืออัลบั้ม ทีของเสือ ของ เสือ ธนพล ส่วนอันดับ 6 คืออัลบั้มนี้ครับ ยังไงก็ไม่เรียบ ของยู่ยี่ ลืมไปเลยว่า ยู่ยี่เคยออกเทป เพลงฝรั้งก็อย่างของ TakeThat หรือ Love is All Around ของ wet wet wet

นอกจากเนื้อหาที่เล่าให้ฟังแล้ว โฆษณา ที่ลงใน ANGEL ก็ถือเป็นไฮไลท์ที่สนุกมากมาย Ad ของอะไรก็ไม่รู้ เอาลูกเกด เมทินี ตอนที่ยังดูอ้วนๆอยู่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ Ad ของ KA Cream หรือแม้แต่ Ad ของ A&W ก็ตลกเกินคาด ที่ประทับใจสุดๆก็คือ Ad ที่ลงปกหลังใน เป็น "รูปถ่าย"ของหนุ่มสาวคู่หนึ่งกำลังโอ้โลมกันอยู่ มี Head Copy เขียนไว้ว่า ยับยั้ง... ชั่งใจ รักกันไม่เห็นผิด แต่ถ้าคิดจะเกินเลยไป ชั่งใจไว้ก่อน... เรารักวัฒนธรรมไทย ต่อด้วยคำบรรยายด้านล่างว่า ปี 2537 ปีรณรงค์วัฒนธรรมของไทย ด้วยความปรารถนาดีจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

นี่คือยุคสมัยหนึ่งของ style magazine ไทย ตัวโปรยบนปกที่เล่นมันทั้งไทยและอังกฤษ (ใช้ helvetica Regular เคาะ space เยอะๆ และใส่ stroke เข้าไปด้วย ส่วนภาษาไทยลืมดู) เสื้อผ้า หน้า ผมและสไตล์ลิ่ง เอ่อ ลืมบอกไปว่า ตั้งแต่ครั้งกระโน้น เค๊าก็ใช้ชื่อช่างภาพตีคู่ไปกับชื่อสไตลลิสต์เหมือนสมัยนี้แหละ การพยายามเล่นกับคำด้วยมุขและกิมมิคแบบนี้ น่าจะเป็นเทรนด์หนึ่งของยุคสมัยนั้น ยุคที่ยังไม่มีเครื่องทุ่นแรงใดๆทั้งสิ้น การแต่งภาพอาจจะใช้วิธีการแต่งฟิลม์เลยด้วยซำ้ หน้าโฆษณาที่ไม่ได้มีปริมาณมหาศาลเหมือนอย่างทุกวันนี้ การรู็จักประหยัดงบด้วยการเลือกพิมพ์ 4 สีเป็นยกๆไป ที่เลือกมาพูดถึงไม่ได้จะเอาตลกโปกฮาหรือเหยียดหยามรสนิยมคนทำใดๆทั้งสิ้น แค่อยากบันทึกเอาไว้หน่อยว่า ครั้งหนึ่ง คำรน และ อมาตย์ เคยทำนิตยสารมีชีวิตเล่มนี้ที่ชื่อว่่า ANGEL (ราคา 45 บาทขาดตัวครับ)

Wednesday, March 4, 2009

Hello stranger, are you the "friend"?







Naoki Urasawa เคยให้สัมภาษณ์ถึงไอเดียที่เขียน 20th Century Boys ขึ้นมาว่า มันมาจากตอนที่เขาไปงานเลี้ยงกับเพื่อนสมัยชั้นประถมของตัวเอง ตลอดทั้งงานเขาเกิดความรู้สึกประมาณว่า หมอนั่นใครวะ นั่นใช่เพื่อนที่เคยเรียนสมัยประถมด้วยกันจริงเหรอเนี่ย หลายคนไม่เหลือเค้าสมัยเด็กเมื่อเวลาที่ชีวิตเดินทางมาถึงวัยกลางคน ความรู้สึกนี้เลยกลายเป็นที่มาของเรื่องราวใน 20th Century Boys สมาชิกขบวนการเคนจิ บันทึกคำทำนาย วิกฤติชีวิตวัยกลางคน แล้วก็... หมอนั่น ... คนที่เราไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่า "เพื่อน"

พวกผมหยิบหนังสือรุ่นของตัวเองมาดูกันไม่รู้ต่อกี่รอบ ส่วนมากก็เปิดดูหน้า profile เดี่ยวๆของแต่ละคน รูปห้องก็ดูๆอยู่บ้างว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของรูป ตั้งแต่เรียนจบมาจนถึงเมือวันก่อน รวมๆแล้วประมาณ 13 ปีได้ อยู่ๆผมก็ชี้ไปที่แถวหน้าของภาพถ่ายห้องตัวเอง ห้อง 64 เฮ้ย... ไอ้นี่ใครวะ ? ถามเพื่อนที่ดูอยู่ด้วยก็เจอคำตอบที่กลายเป็นคำถามเดียวกันว่า นี่ใครวะ ไอ้คนที่นั่งอยู่หน้าสุด ดูจากท่านั่งแล้ว เป็นคนสูง นั่งชันเข่าแขนซ้ายพาดอยู่กับเข่าซ้าย ผิวดำแดง ทรงผมแบบที่ชอบไว้ให้พองสุดเท่าที่จะทำได้ นั่งอยู่ตรงกลางระหว่าง อัครพล เค้าอุท้ย ( เลขประจำตัว 21842) กับ สว่างพงศ์ ลุมพิกานนท์ (เลขประจำตัว 21905) ด้านหลังมี พงศธร หอมศิริกมล (เลขประจำตัว 21727) ปิยบุตร หล่อไกรเลิศ (21809) และสุพจน์ เจนกิจงาม (21658)

ทำไมในสมองของผมและเพื่อนที่นั่งดูอยู่ด้วยกันถึงไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเพื่อนคนนี้แม้แต่เศษเสี้ยว พยายามนั่งนึก-คิดแบบวิทยาศาสตร์ที่สุด ถ้าไม่เคยเรียนห้องเดียวกันแล้วทำไมถึงมานั่งถ่ายได้เนียนขนาดนี้ ลองนับคนในห้องจากหน้าโปรไฟล์ภาพเดี่ยวนับได้ 52 คน ภาพหมู่ที่ถ่ายครงสนามบอลมัธยมนับรวมได้ 51 คน ไม่รวมอาจารย์โกสุม สรุปแล้ว... นี่มันใครวะ ? เพื่อน ? เด็กเข้าใหม่ ? เด็กเข้าใหม่ตอน ม.4 ม. 5 น่ะ เรื่องปกติ แต่ถ้าเด็กเข้าใหม่ตอน ม.6 นึกยังไงก็นึกไม่ออก

มีใครรู้จักเด็กนักเรียนที่ใส่ชุดนักเรียนกรุงเทพคริสเตียน แล้วมาถ่ายภาพหมู่รวมคนในห้อง 64 สำหรับหนังสือรุ่นของศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนรุ่น 143 คนนี้บ้าง พวกผมไม่มีใครรู้จักเขาจริงๆ