Friday, March 20, 2009
Where do we go from here?
จริงๆอยาก post บทความนี้ตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว แต่ไม่มีเวลาจริงๆ ตอนนี้พอหายใจได้สะดวกขึ้นบ้างแล้ว เลยอยากเอาข้อเขียนของ เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เขียนเรื่อง วิกฤตการณ์การเงินโลก ที่ตีพิมพ์ลงในมติชนรายวัน ฉบับที่ 11325 วันที่ 13 มีนาคม 2552 ต้นฉบับเดิมของบทความฉบับนี้ เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร The Monthly ของออสเตรเลีย บทความภาษาไทยนี้ตัดตอนและถ่ายทอดเป็นภาษาไทย เพื่อนำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มติชน โดยเฉพาะ เป็นกรณีพิเศษ ลองอ่านดูแล้วกันว่า สิ่งที่นายกของออสเตรเลียคนนี้เขียนถึงโลกเป็นเช่นไร อ่านจนถึงบรรทัดสุดท้าย นอกจากชั้นเชิงในงานเขียนจะไม่เป็นรองนักหนังสือพิมพ์หน้าไหนแล้ว คงไม่มีคำตอบสำหรับคำถาม "where do we go from now?" เราจะเดินต่อไปเช่นไรในอนาคตอันใกล้ ไม่มีใครรู้จริงๆ
วิกฤตการณ์การเงินโลก
โดย เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย
ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นานๆ ครั้งจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและมีนัยสำคัญ จนทำให้ความเชื่อแต่ดั้งเดิมถูกล้มล้างไป แล้วมีแนวคิดใหม่เข้ามาแทนที่ ทุกวันนี้ ระดับความรุนแรงของวิกฤตการณ์การเงินโลกทำให้พวกเราต้องทบทวนนโยบายและปรัชญาทางด้านเศรษฐกิจที่นำพาพวกเรามาจนถึงจุดนี้อีกครั้ง
จอร์จ โซรอส ได้กล่าวไว้ว่า "สาระสำคัญที่สุดของวิกฤตการณ์การเงินในขณะนี้ก็คือ มันไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงสั่นสะเทือนจากภายนอก...แต่เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากตัวระบบของมันเอง"
โซรอสพูดถูก วิกฤตการณ์ในขณะนี้เป็นผลพวงจากการครอบงำจากนโยบายเศรษฐกิจที่ยึดถืออุดมการณ์การตลาดเสรีมานานถึง 30 ปี โดยได้รับการขนานนามต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น เสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism), เศรษฐกิจเสรีนิยม (economic liberalism) หรือ ลัทธิคลั่งเศรษฐกิจ (economic fundamentalism) โดยหลักความคิดที่ผลักดันอุดมการณ์ดังกล่าวก็คือ กิจกรรมของภาครัฐควรถูกจำกัดไว้ และแทนที่ด้วยพลังตลาดในที่สุด ซึ่งในปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นแล้วว่า พลังตลาดที่ไร้การตรวจสอบได้นำทุนนิยมไปสู่หุบเหวอย่างไรแทนที่จะกระจายความเสี่ยงไปทั่วโลก ระบบการเงินของโลกกลับเพิ่มความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เลวร้ายยิ่งขึ้น
แนวคิดเสรีนิยมใหม่เชื่อว่าตลาดการเงินโลกจะแก้ไขตัวมันเองได้ในที่สุด ด้วยว่ามือที่มองไม่เห็นของพลังตลาดซึ่งปราศจากการควบคุมใดๆ นั้นจะหาจุดสมดุลของมันได้เอง แต่นักเศรษฐศาสตร์อย่างโจเซฟ สติกลิตซ์ ได้แสดงทรรศนะวิพากษ์ไว้ว่า "เหตุผลที่มือที่มองไม่เห็นนั้นดูเหมือนจะมองไม่เห็น ก็เป็นเพราะว่ามือนั้นไม่มีอยู่จริงต่างหาก"
ดังนั้น จึงเป็นแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลต์ ที่เข้ามาสร้างทุนนิยมแบบอเมริกันขึ้นมาใหม่หลังจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในขณะที่พรรคเดโมแครตแห่งอเมริกา ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ก็ต้องเข้ามาสร้างอุปสงค์ในประเทศให้เกิดขึ้นอีกครั้งหลังยุคสงคราม มีการขับเคลื่อนแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) เพื่อฟื้นฟูยุโรปและจัดตั้งระบบเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods system-ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่) ขึ้นมาเพื่อกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ
เช่นเดียวกันกับที่คนรุ่นใหม่จะต้องทบทวนและสร้างระบบเศรษฐกิจระดับชาติและนานาชาติของเราขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
ถ้ารัฐบาลกลางของประเทศต่างๆ จะปกป้องทุนนิยมเอาไว้ พวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายสามประการ
ประการแรกคือ การใช้หน่วยงานของรัฐในการฟื้นฟูตลาดในกำกับอย่างเหมาะสม และการสร้างอุปสงค์ในประเทศและในโลกขึ้นมาอีกครั้ง จากความล่มสลายของเสรีนิยมใหม่ บทบาทของรัฐได้รับการยอมรับอีกครั้งว่าเป็นรากฐานที่สำคัญ โดยที่รัฐได้เป็นผู้ที่แสดงบทบาทหลักในการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสามด้านที่ชัดเจน คือการเข้าช่วยเหลือระบบการเงินเอกชนไม่ให้ล้มลง ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงอันเนื่องมาจากความล่มสลายในอุปสงค์ของเอกชน และการออกแบบระบบกำกับในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีความรับผิดชอบในการตัดสินใจและบังคับใช้ระบบระเบียบดังกล่าว
ความท้าทาย ประการที่สอง สำหรับนักสังคมประชาธิปไตยก็คือการพยายามแก้ปัญหาโดยไม่ทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้วกลับแย่ลงไปอีก เมื่อวิกฤตการณ์การเงินเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของครอบครัวต่างๆ ทั่วโลก ย่อมก่อให้เกิดแรงกดดันให้ถอยกลับไปใช้รูปแบบที่รัฐเป็นผู้จัดหาทุกสิ่งทุกอย่างให้ และละทิ้งหลักการทั้งหมดของตลาดแบบเปิดกว้างและแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ การปกป้องทางการค้าเริ่มจะเกิดขึ้นและรู้สึกได้บ้างแล้ว แม้จะเป็นในรูปแบบที่นุ่มนวลและแนบเนียนมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าอย่าง Smoot-Hawley Tariff Act ในปี 1930 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอย่างนุ่มนวลหรือแข็งกร้าว การปกป้องทางการค้านั้นเป็นวิธีการที่จะทำให้ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจถลำลึกสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เกิดความล่มสลายของอุปสงค์ระดับโลก ข้อกล่าวอ้างโดยดุษณีเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองที่มีมาตลอดของสังคมประชาธิปไตยก็คือความสามารถในการรักษาสมดุลระหว่างเอกชนกับภาครัฐ กำไรและค่าจ้าง ตลาดและรัฐ ปรัชญาดังกล่าวส่งเสียงดังขึ้นอย่างแจ่มชัดและมีน้ำหนักขึ้นอีกครั้งเพื่อประจันหน้าท้าทายพวกเราในขณะนี้
ความท้าทาย อีกประการหนึ่ง สำหรับรัฐบาลต่างๆ ที่กำลังรับมือวิกฤตการณ์ในขณะนี้ก็คือมิติของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รัฐบาลต่างๆ ต้องออกกฎระเบียบการเงินต่างๆ ของโลกให้สอดคล้องกันเพื่อป้องกันการวิ่งแข่งกันไปสู่จุดต่ำสุด นั่นคือการที่เงินทุนไหลออกสู่อาณาเขตเศรษฐกิจของโลกที่มีข้อบังคับอันอ่อนด้อย เราต้องจัดสร้างมาตรฐานแห่งการเปิดเผยต่อกันระดับโลกอย่างเป็นระบบสำหรับสถาบันการเงินที่สำคัญ เรายังต้องสร้างกรอบการกำกับดูแลที่เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดความรับผิดชอบมากขึ้นในการบริหารองค์กร ซึ่งรวมถึงเรื่องการให้ค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารระดับสูงด้วย
โลกได้หันหน้าเข้าหากันด้วยการให้ความร่วมมือกันต่อรัฐผ่านกลุ่มประเทศ G20 เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในทันทีให้แก่ระบบการเงินโลก; เพื่อประสานให้เกิดการกระตุ้นทางการคลังอย่างเพียงพอต่อการรับมือกับช่องว่างทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากภาวะชะลอตัวทั่วโลก; เพื่อออกแบบกฎระเบียบระดับโลกเสียใหม่สำหรับอนาคต; เพื่อปฏิรูปสถาบันรัฐระดับโลกที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะไอเอ็มเอฟ ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันเหล่านั้นมีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอต่อความต้องการในศตวรรษที่ 21
การจัดการกำกับดูแลไอเอ็มเอฟจะต้องได้รับการปฏิรูป มีเหตุผลเพียงพอทีเดียวที่ว่าหากเราคาดหวังจะให้ประเทศต่างๆ ที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น จีน มีส่วนร่วมมากขึ้นในสถาบันระดับพหุภาคีอย่างไอเอ็มเอฟแล้ว พวกเขาก็ควรจะได้รับเสียงที่ดังขึ้นในการร่วมตัดสินใจในเวทีเหล่านี้
ความท้าทายระยะยาวสำหรับรัฐบาลต่างๆ คือการจัดการกับความไม่สมดุลต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจของโลกสั่นคลอนในทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจที่ได้ดุลสูงอย่างจีน ญี่ปุ่น และประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน กับประเทศลูกหนี้รายใหญ่หลายราย เช่น สหรัฐอเมริกา
ความร้ายแรงของวิกฤตและผลกระทบทั่วโลกหมายความว่าการปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่เชื่อกันมายาวนานเพียงเล็กน้อยจะไม่ช่วยอะไรได้ ความจริงสองประการที่ไม่อาจโต้แย้งได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นก็คือตลาดการเงินไม่สามารถแก้ไขตัวเองหรือกำกับตัวเองได้ตลอดเวลา และอีกข้อหนึ่งก็คือรัฐบาล (ระดับชาติหรือระดับนานาชาติ) ไม่เคยสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้เลย
สำหรับรัฐบาลต่างๆ นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่เพียงแค่รักษาระบบตลาดเปิดไม่ให้ถูกทำลายลงด้วยตัวมันเองเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นอีกครั้งให้กับตลาดที่ได้รับการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาสุดขั้วจากกลุ่มซ้ายจัดหรือขวาจัด
รัฐบาลต่างๆ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องเพราะมีเดิมพันที่สูงยิ่ง นั่นก็คือ มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะสูญเสียจากการว่างงานระยะยาว ความยากจนที่จะแผ่ขยายความน่าประหวั่นพรั่นพรึงไปยังประเทศกำลังพัฒนาอีกครั้ง และผลกระทบในระยะยาวต่อโครงสร้างทางอำนาจภายในระเบียบทางการเมืองและทางยุทธศาสตร์ระดับนานาชาติที่ดำรงอยู่ ความสำเร็จจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทางเลือก เพราะมีสิ่งต่างๆ มากมายที่จะต้องอาศัยความสามารถของพวกเราเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment