Friday, July 17, 2009
She's the one.
ตอนแรกที่เห็นบทความนี้ใน โพสต์ทูเดย์ สุดสัปดาห์ ฉบับวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2552 (คริ คริ ราชบัณฑิต ขำขำ) ก็พาลนิสัยเสียเดาเอาก่อนว่าเนื้อหาคงไม่หนีเรื่องเดิมๆ ประมาณภาษาไทยวิบัติวายป่วงจากการใช้ศัพท์ประมาณ "คริ คริ" นี่แหละ แต่พออ่านจนจบ ผมกลับรู้สึกว่า ผู้หญิงคนนี้เจ๋งจริงๆ
"ภาษาแชต" ที่ผู้ใหญ่หลายคนคงต้องเบือนหน้าหนี แต่รศ.ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคิสมาชิกสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตสถาน มีความเห็นที่ทำเอาทึ่งไม่น้อย "ภาษาแชต เป็นความสะดวกในการสื่อสารกันระหว่างกลุ่มคน เป็นภาษาที่ใช้ตามเสียงที่พูด แทนความรู้สึกหรืออาการแสดงออก วัยรุ่นยุคนี้ใช้ภาษาที่ว่า เพราะสะดวกในการใช้คีย์บอร์ดพิมพ์ โดยไม่ต้องคอยกดชิฟต์ อย่ากังวลเรื่องนี้เกินไป เร็วเกินกว่าที่นักภาษาศาสตร์คนไหนจะตอบได้ว่ามีผลต่อมาตรฐานการใช้ภาษาไทย"
"ธรรมชาติของภาษาคือความเปลี่ยนแปลง คนสมัยก่อนเคยพูดว่า ไปหา "ชิ้น" คนสมัยนี้ต้องพูดว่าไปหา "แฟน" ปัจจุบันก็พูดกันว่าไปหา "กิ๊ก" แน่นอนว่าในอนาคตจะต้องมีคำอื่นมาใช้เรียกแทน "กิ๊ก" อีก นี่คือธรรมชาติของภาษา ในยุคสมัยหนึ่งคำบางคำเป็นคำร้ายแรง พูดไม่ได้เลย เช่น คำว่า โกหก เมื่อก่อนจะว่าใครโกหก ถือว่าคนพูดไม่มีมารยาท เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก หรือคำว่า อ้วนหรือผอม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ประกาศห้ามพูดหรือใช้คำคำนี้กับคน เพราะเป็นคำที่ใช้กับสัตว์เท่านั้น
ภาษามีช่วงเปลี่ยนกับช่วงแปร ในสังคมออกเสียงหรือใช้คำคำหนึ่งสองสามแบบใช้สลับกัน กระทั้งวันหนึ่งแบบหนึ่งเป็นที่ยอมรับมากกว่า อีกแบบก็จะเลิกใช้หรือตายไปเอง ปัญหาของภาษาไม่ใช่เรื่องของการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นเรื่องของการใช้ผิดกาลเทศะ ในกรณีวัยรุ่นใช้ภาษาแชตนั้นไม่ผิด เว้นแต่ไปอยู่ผิดที่ ในมุมมองของนักภาษาศาสตร์การใช้ภาษาไม่มีวันผิดเลย ตราบใดที่มันถูกใช้อย่่างถูกกาลเทศะ ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลเรื่องภาษาที่เด็กใช้ จะให้เด็กอายุ 14 ปี คิดเหมือนคนอายุ 40 ปีไม่ได้ - นี่คือความเห็นของอาจารย์นิตยาคนเดียวเท่านั้น ไม่ใช้ข้อสรุปจากราชบัณฑิตยสถาน - แถมท้ายอีกว่า พูดอังกฤษคำไทยคำไม่แปลก ที่กลัวว่าจะถูกกลืนเป็นการกังวลที่เกินเหตุ เมื่อใดก็ตามที่เลือกใช้คำอื่นมาพูดในภาษาเรา หมายความว่า คำคำนั้นกำลังถูกเรากลืน เพราะเวลาใช้ เราไม่ได้ออกเสียงตามต้นแบบเดิม แต่เราออกเสียงตามแบบไทย ใครที่คิดว่าภาษาไทยเปลี่ยนไม่ได้ ก็ดท่ากับการพยายามแช่แข็งภาษา ผิดธรรมชาติของมนุษย์
อ่านถึงตรงนี้ ไม่รู้ว่าทำไมไม่ค่อยมีผู้ใหญ่ที่ใจกว้างและมองอะไรเรียลริสติกแบบนี้อีกหลายๆคน คำถามคือ ผู้ใหญ่แบบนี้มีน้อยจริงๆหรือสื่อรู้ดีว่าความเห็นประมาณนี้ไม่ขาย... ?
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
คริคริ
Post a Comment